- แผนงาน โครงการ
แผนงาน โครงการ
แผนงานโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก
1. แผนงานระยะเร่งด่วน
1) การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
โดยผลการประชุมคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ณ กระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ดังนี้
(1) แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ซึ่งมีแผนดำเนินการในปี 2557 – 2564 แบ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 40 โครงการ วงเงิน 120,294.94 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานด่านศุลกากร 10 โครงการ 5,146.87 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 ด้วย
(2) แผนงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จ.ตาก วงเงิน 9,097 ล้านบาท
2) การจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
ราษฎรอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประสบปัญหาวิกฤติน้ำทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี คือในช่วงฤดูแล้งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ในเขตตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาวและตำบลแม่กุ ในช่วงฤดูฝนประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลแม่สอด ประกอบกับ จังหวัดได้เร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และแหล่งน้ำดิบในการจัดทำน้ำประปาที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดความจุ 13.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 6,740 ไร่ ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านขุนห้วยแม่สอด ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก เนื้อที่ 1,068 ไร่โดยกรมชลประทานได้เสนอเรื่องไปยังกรมป่าไม้ เพื่อขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่สอด เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดตอนบน พร้อมทั้งได้ตั้งงบประมาณปลูกป่าทดแทนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2525 แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้
2. แผนระยะกลาง และระยะยาว
1) จัดหาพื้นที่สำหรับรองรับการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
เร่งรัดให้มีการพิจารณาเพิกถอนป่าไม้ถาวร “ป่าแม่สอด” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 เนื้อที่ 5,603-0-56 ไร่ เพื่อให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) คลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์โลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 พร้อมโครงข่าย และใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อรองรับการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนต่อไป ซึ่งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาที่ดินจังหวัดตาก ครั้งที่ 1/2557 ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพป่า รวมถึงมีราษฎรเข้าไปทำกินและใช้ประโยชน์แล้ว
2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมโครงข่าย และศูนย์ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)
การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมโครงข่าย สถานที่ตั้งบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้ได้คัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมแล้ว และอยู่ในขั้นตอนงานสำรวจออกแบบเก็บรายละเอียด เพื่อให้พร้อมดำเนินการทันที่เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2559 – 2560 จำนวน 22,000 ล้านบาท
3) การขยายสนามบินแม่สอดให้มีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
กรมการบินพลเรือนคาดว่าจะได้รับงบประมาณดำเนินโครงการปรับปรุงขยายสนามบินแม่สอด งบประมาณปกติจำนวน 840 ล้านบาท เป็นการปรับปรุงขยายทางวิ่งสนามบินแม่สอดเดิมกว้าง 30 เมตร ยาว 1,500 เมตร ให้มีทางวิ่งกว้าง 45 เมตร ยาว 2,100 เมตร วิ่งขึ้น-ลงด้านทิศตะวันออก มีความปลอดภัยตามมาตรฐานการบิน งบประมาณปี 2559 – 2561 จำนวน 1,073.52 ล้านบาท
4) การพัฒนาเส้นทางคมนาคมในอำเภอแม่สอด
มีโครงการขยายเส้นทางคมนาคม และการซ่อมแซมเส้นทางรอบเมืองแม่สอดหลายจุด เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมากขึ้น งบประมาณ 1,533.57 ล้านบาท ซึ่งจะขอแปรญัตติขอใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการให้ทันในปี 2558
5) การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง อ.พบพระ – อ.อุ้มผาง
พัฒนาเส้นทางเข้าเขตแดนเมียนมาร์ บริเวณบ้านวาเล่ย์เหนือ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ ถึงบ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ. อุ้มผาง ระยะทาง ๒๘ กม. งบประมาณ 650 ล้านบาท เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าชายแดนกับเมียนมาร์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางจากอำเภอ แม่สอดถึงอำเภออุ้มผางให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของการใช้เส้นทางปกติ
6) โครงการขุดเจาะอุโมงค์ถนนสายตาก – แม่สอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12)
จังหวัดตากได้จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร (กลุ่มย่อย) เพื่อหารือแนวทางการขุดเจาะอุโมงค์ถนนสายตาก – แม่สอด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นประธาน ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนฝ่ายทหาร และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการการขุดเจาะอุโมงค์ถนนสายตาก – แม่สอด รวมถึงการสร้างสะพานเชื่อมในบางจุดเพื่อลดความคดเคี้ยวและลาดชันของเส้นทาง และออกแบบเส้นทางดังกล่าวให้สามารถใช้แนวเส้นทางและอุโมงค์ร่วมกับเส้นทางรถไฟได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในการใช้เส้นทาง เพิ่มความสะดวกสบายและลดเวลาในการเดินทางจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 60 – 90 นาที ให้เหลือเพียง 30 – 40 นาที และส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ East – West Economic Corridor (EWEC) รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจังหวัดจะได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อขอรับการสนับสนุนแนวคิดและจัดสรรงบประมาณการขุดเจาะอุโมงค์ถนนและเส้นทางรถไฟสายตาก – แม่สอด ต่อไป
การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคง
1) มีการขอขยายเวลา เปิด – ปิดด่านพรมแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวร (สะพานมิตรภาพไทย – พม่า) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานแบบเช้าไป เย็นกลับ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์เห็นชอบในการขยายเวลาเปิดปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นเวลา 05.00 – 20.00 ตามเวลาท้องถิ่นเมียนมาร์ (05.30 – 20.30 น. ตามเวลาไทย) โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558
2) มีการขยายพื้นที่การเดินสำหรับผู้ถือบัตรผ่านแดน (Border Pass) ชาวเมียนมาร์ให้เดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในได้เพิ่มเติม โดยให้มีการขยายพื้นที่การเดินทางได้ถึงพื้นที่จังหวัดตาก ทั้งนี้ ให้จังหวัดประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่การเดินทางและนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดนพิจารณาต่อไป
3) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก และประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service: OSS) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก
มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มอบหมายให้จังหวัด ใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จังหวัดตากจึงประกาศจัดตั้ง “สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก” ภายในอาคารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ชั้น ๔ ถนนสายเอเชีย (แม่สอด-ริมเมย) ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยทำพิธีเปิดสำนักงานฯ เมื่อวันอังคารที่ 27 มกราคม 2558