เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการศึกษากันมานานในประเทศไทย โดยมีแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้มีการกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยใช้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายเป็นตัวนําในการพัฒนา อันเป็นการนํามาซึ่งการลงทุน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เฉพาะและพื้นที่ใกล้เคียง
ภาพที่ 1 กรอบแนวคิด "เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย"
อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรม เริ่มมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานที่ประชุม ได้ให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทย ใน 5 พื้นที่ชายแดน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างสมบูรณ์ ได้แก่ 1. อําเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2. อําเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว 3. พื้นที่ชายแดน จังหวัดตราด 4. พื้นที่ชายแดน จังหวัดมุกดาหาร 5. อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) สิทธิประโยชน์สําหรับการลงทุน 2) การให้บริการ จุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ 3) มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ 4)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงในภูมิภาค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ