ความเป็นมาของการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ และกำหนดแนวทางในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการค้าชายแดนผ่านการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีคำสั่ง ที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ซึ่งกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2557 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน รวมถึงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากได้ดำเนินการ ดังนี้
1) จัดทำแผนแม่บทเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ควบคู่กับการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ภายใต้โครงการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2) การนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556 มาใช้ร่วมกับอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เดิมของรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง อธิบดี และปลัดกระทรวงต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนในแนวทางการดำเนินงานมากขึ้น
3) จัดทำประชาพิจารณ์และร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอ ที่กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด
ต่อมา มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เห็นชอบขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.) โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ในระดับตำบลที่อยู่ติดชายแดนและไม่ทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดตาก จำนวน 14 ตำบล 886,875ไร่ (1,419 ตร.กม.) ใน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด ดังนี้
1) อำเภอแม่สอด ในพื้นที่ 8 ตำบล ดังนี้
1.1) ตำบลแม่สอด
1.2) ตำบลแม่ตาว
1.3) ตำบลท่าสายลวด
1.4) ตำบลพระธาตุผาแดง
1.5) ตำบลแม่กาษา
1.6) ตำบลแม่ปะ
1.7) ตำบลแม่กุ
1.8) ตำบลมหาวัน
พื้นที่เป้าหมายรวม 8 ตำบลในอำเภอแม่สอด มีพื้นที่ 529,264 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ 32,234ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมด
2) อำเภอพบพระ ในพื้นที่ 3 ตำบล ดังนี้
2.1) ตำบลพบพระ
2.2) ตำบลช่องแคบ
2.3) ตำบลวาเล่ย์
พื้นที่เป้าหมายรวม 3 ตำบลในอำเภอพบพระ มีพื้นที่ 261,961 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ 22,972 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 9 ของพื้นที่ทั้งหมด
3) อำเภอแม่ระมาด ในพื้นที่ 3 ตำบล ดังนี้
3.1) ตำบลแม่จะเรา
3.2) ตำบลแม่ระมาด
3.3) ตำบลขะเนจื้อ
พื้นที่เป้าหมายรวม 3 ตำบลในอำเภอแม่ระมาด มีพื้นที่ 244,797 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ 43,548 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 18 ของพื้นที่ทั้งหมด
ภาพที่ 1 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ (อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ะมาด)